×
หน้าหลัก > รู้ทันโควิด19 (COVID-19) > 6 วิธีรับมือไวรัสโคโรนา สำหรับธุรกิจ SME
6 วิธีรับมือไวรัสโคโรนา สำหรับธุรกิจ SME
6 วิธีรับมือไวรัสโคโรนา สำหรับธุรกิจ SME
03 Apr, 2020 / By aandrcospace
Images/Blog/JuM1wtW1-Blog 800x600 6วิธีรับมือ SME.png

การระบาดของโรคโควิด-19หรือโคโรน่าไวรัสที่เราได้ยินเป็นข่าวใหญ่มาตั้งแต่ในช่วงปลายปีที่แล้ว ผลกระทบจากการระบาดในครั้งนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในแทบจะทุกด้านไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณสุขที่มีข่าวปล่อยกันออกมาแทบจะทุกวันทั้งจริงและเท็จและแน่นอนครับว่าผลกระทบนี้ลุกลามไปถึงระบบเศรษฐกิจอย่างไม่ต้องสงสัยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจีนที่แทบไม่เข้ามาในประเทศเลยนับตั้งแต่เกิดการระบาด และเมื่อการระบาดลุกลามบานปลายก็ส่งผลให้อุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบตามมาติดๆ และผลกระทบนี้ก็ได้ขยายตัวไปยังภาคส่วนธุรกิจอื่นๆตามไปด้วย ผู้คนเริ่มที่จะไม่เดินทางออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น การจับจ่ายใช้สอยจึงพลอยซบเซาตามไปด้วย แน่นอนว่ากลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโรคโควิด-19 ย่อมหนีไม่พ้นบรรดา SMEs ที่ต้องพยายามปรับตัวเพื่อต่อสู้กับภาวะซบเซาเช่นนี้ ในวันนี้เรามีคำแนะนำดีๆมาฝากครับว่าสำหรับ SMEs จะต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะอยู่รอดในภาวะวิกฤติเช่นนี้

1. อย่าลงทุนอะไรที่ไม่จำเป็นเพิ่มในตอนนี้

การเก็บเงินสดไว้เพื่อการหมุนเวียนธุรกิจน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ SMEs ต้องทำในขณะนี้มากกว่าการนำเงินสดไปลงทุนเพิ่มครับไม่ว่าจะเป็นการลงทุนผลิตสินค้าเพิ่ม การตกแต่งร้านใหม่หรือการซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มการผลิต เพราะในสถานการณ์เช่นนี้การลงทุนของ SMEs อาจได้ไม่คุ้มกับที่ต้องเสียไป หากคิดจะลงทุนเพิ่มจริงควรมีสติในการลงทุนให้มากโดยอาจไปลงทุนเพิ่มในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ครับแต่ทั้งนี้อาจต้องระวังในเรื่องของการเก็งกำไรสินค้าเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

2. ลดรายจ่ายและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป

รายจ่ายที่ไม่จำเป็นก็เปรียบเสมือนแผลที่เลือดไหลไม่หยุด หากคุณไม่จัดการกับแผลนี้และปล่อยเลือดไหลออกไปอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจของคุณก็อาจจะอยู่ไม่รอดจนพ้นจากวิกฤตินี้ครับ สำหรับ SMEs คุณควรจะนำบัญชีรายรับและรายจ่ายของคุณออกมากางดูแล่วดูว่ารายจ่ายตรงจุดไหนที่คุณควรตัดออกไปบ้างเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เช่นสินค้าฟุ่มเฟือยประเภทต่าง ๆ ในบางครั้งคุณอาจต้องพูดคุยกับพนักงานโดยตรงเพื่อร่วมกันหาทางออกจากปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ การช่วยกันลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นกันคนละไม้ละมือมีโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าและรอดพ้นจากวิกฤตินี้ได้ครับ

3. มองช่องทางขายออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางและโอกาสในการขาย

ในทุกวิกฤติยังมีโอกาสซุกซ่อนอยู่เสมอสำหรับผู้ที่มองเห็น ในวิกฤติที่คนไม่ยอมออกจากบ้านเพื่อไปจับจ่ายใช้สอยเช่นนี้ช่องทางออนไลน์น่าจะเป็นคำตอบสำหรับ SMEs ในการผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ครับ เมื่อคนไม่ยอมออกมาซื้อสินค้าคุณก็ควรจะนำเสนอสินค้าส่งตรงไปถึงพวกเขาเลยน่าจะเป็นโอกาสที่คุณสามารถเพิ่มยอดขายอย่างที่คุณต้องการได้ มองหาทุก ๆแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าออนไลน์ และใช้ประโยชน์จากอพลตฟอร์มเหล่านั้นอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์ โซเชี่ยลมีเดีย หรือ Marketplace สิ่งสำคัญที่จะทำให้การขายสินค้าออนไลน์ประสบความสำเร็จได้นอกจากการมองหาลูกค้าใหม่ ๆคือการพยายามรักษาฐานลูกค้าเดิมของคุณเอาไว้ให้ได้เพราะพวกเขาคือคนที่กลับมาซื้อสินค้าของคุณซ้ำ ให้สิทธิพิเศษแก่พวกเขาแล้วเขาจะภักดีกับสินค้าของคุณ

4. ลดล้างสต๊อก ขายสินค้าเอาทุนคืน

การคงสต๊อกสินค้าเอาไว้โดยไม่ยอมระบายสินค้าออกเท่ากับว่าคุณกำลังแบกรับค่าใช้จ่ายในการรักษาสต๊อกสินค้านั้นเพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากต้นทุนของสินค้าที่คุณต้องแบกเอาไว้อยู่แล้ว ในวิกฤติเช่นนี้สิ่งที่คุณจะต้องทำเพื่อรักษาธุรกิจก็คือการยอมขายสินค้าในแบบของการลดราคาล้างสต๊อกเพื่อเอาต้นทุนบางส่วนของคุณกลับคืนมาเก็บไว้ในรูปแบบของเงินสดหมุนเวียนครับ การปล่อยสินค้าบางส่วนออกเพื่อความอยู่รอด การยอมขายเท่าทุนดีกว่าการที่คุณต้องขายขาดทุนหรือการต้องแบกต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการรักษาสต๊อกสินค้าของคุณ วิธีการนี้จะช่วยต่อลมหายใจให้แก่คุณและทำให้คุณรอดพ้นจากวิกฤติในครั้งนี้ไปได้

5. การร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่าง SMEs

การเดินทางคนเดียวในภาวะวิกฤติเช่นนี้อาจจะเป็นภาระที่หนักหนาสาหัสเกินกว่าที่ SMEs จะยืนหยัดอยู่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ SMEs ควรจะทำก็คือการแสวงหาความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ SMEs ด้วยกันในรูปแบบของการจับมือเป็นพันธมิตรนำสินค้าของตนมาทำการตลาดร่วมกันหรือนำมาจัดโปรโมชั่นร่วมกันในลักษณะของการขายพ่วงสินค้าที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันครับ การทำเช่นนี้นอกจากจะทำให้ SMEs มีโอกาสรอดยังทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าตนเองได้รับประโยชน์จากการจัดโปรโมชั่นสินค้าร่วมกันระหว่าง SMEs ครับ

6. หารายได้เสริมจากช่องทางอื่นๆ

รายได้จากธุรกิจหลักเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบในการผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ครับ หากมีช่องทางอื่น ๆที่จะสร้างรายได้เพิ่มเติมคุณก็อาจจำเป็นต้องนำมาประยุกต์ให้เข้ากับธุรกิจหลักของคุณ เช่นหากคุณมีสถานที่และมีกลุ่มลูกค้าในระดับหนึ่งคุณก็อาจนำสินค้าบางประเภทหรือบริการบางอย่างที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้มาให้บริการเพิ่มเติมภายในร้านของคุณ มองหาช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มเติมโดยไม่เพิ่มจำนวนพนักงาน เมื่อวิกฤตินี้ผ่านพ้นไปคุณอาจได้ช่องทางในการสร้างรายได้ถาวรอีกหนึ่งช่องทางก็เป็นได้

ไม่มีธุรกิจใดที่ไม่เคยพบวิกฤติครับ ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ทุก ๆ ธุรกิจล้วนต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่แทบจะไม่แตกต่างกัน “การตั้งสติ” และการนำพาธุรกิจไปในทิศทางที่ให้ความระมัดระวังตัวเองมากขึ้นน่าจะเป็นคำตอบของการผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ มองหาโอกาสและช่องทางที่ซ่อนอยู่ แสวงหาความร่วมมือระหว่าง SMEs ด้วยกันแล้วคุณจะผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19นี้ไปด้วยกันครับ

ที่มา: Taokaemai

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2025
Vevo Systems Co., Ltd.